ความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2536 อนุมัติให้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพค้าประเวณี โดยใช้รูปแบบการสงเคราะห์และฝึกอาชีพแก่สตรีและเยาวสตรี เมื่อจบหลักสูตรแล้ว ให้จัดการหางาน ให้ทำในสถานที่และรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ได้คัดเลือก บ้านสันต้นม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ (พื้นที่นิคมโรคเรื้อน) จำนวน 54 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา เป็นพื้นที่ตั้งหน่วยงาน ได้รับอนุมัติให้ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพสตรีจังหวัดเชียงราย” สังกัดกองสัมมาอาชีวสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แต่เนื่องด้วยบทบาทภารกิจมีลักษณะของการสงเคราะห์ด้วย จึงขอใช้ชื่อเป็น “ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพสตรี จังหวัดเชียงราย”แทน เริ่มดำเนินการฝึกอบรมครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2538 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2539โดยอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ (นายอำพล สิงหโกวินท์) ในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ศูนย์สงเคราะห์และ ฝึกอาชีพสตรี จังหวัดเชียงรายจึงได้โอนย้ายไปสังกัดสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2546มีบทบาทภารกิจหลัก คือ การฝึกอบรมอาชีพให้แก่สตรีและเยาวสตรีที่ประสบปัญหาทางสังคม ให้มีอาชีพ มีรายได้ เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเอง
ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 มีคำสั่งที่ 1688/2550 เรื่องปรับปรุงอำนาจหน้าที่และจัดตั้ง สำนัก กอง เป็นการภายใน ให้มีการจัดตั้งสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็กแยกจากสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงเด็ก ซึ่งศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพสตรี ทั้ง ๘ แห่ง ได้ถูกโอนย้ายไปสังกัดสำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็กขณะเดียวกัน ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพสตรี จังหวัดเชียงราย ได้ขอเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิมที่ได้รับการอนุมัติจัดตั้งในครั้งแรก คือ “ศูนย์ฝึกอาชีพสตรี จังหวัดเชียงราย” ในการดำเนินงาน
กระทั่งในปี พ.ศ. 2558 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) มีการแบ่งส่วนราชการภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็น 2 สำนัก 5 กรม โดยศูนย์ฝึกอาชีพสตรีจังหวัดเชียงราย ได้โอนย้ายไปสังกัด กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กองคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา
สถานที่ตั้ง
ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จ.เชียงราย
ที่อยู่ : ตั้งอยู่เลขที่ 10 หมู่ 10 ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ติดถนนพหลโยธิน ฝั่งตะวันออก ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 797-798 ห่างจากตัวเมืองเชียงรายไปทางทิศใต้ประมาณ 31 กิโลเมตร บนพื้นที่ 54 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา
โทรศัพท์หมายเลข : 053-723-950, 081-961-6676
โทรสาร: 053-727-255
อีเมล์ : info@vtw-cr.go.th
เว็บไซต์ : http://www.vtw-cr.go.th
การให้บริการ
1) การฝึกอบรมอาชีพฟรี
- การฝึกอบรมอาชีพในศูนย์ฯ หลักสูตร 6 เดือน 3 เดือน 1 เดือน และน้อยกว่า 1 เดือน พร้อมจัดสวัสดิการ ได้แก่ ที่พัก อาหาร 3 มื้อ ของใช้ส่วนตัว วัสดุอุปกรณ์การเรียน บริการด้านสังคมสงเคราะห์ การรักษาพยาบาล บริการ Internet และ Wifi ฟรี ตลอดหลักสูตร
-การฝึกอบรมอาชีพในชุมชน ตามโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว
2) การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและการสังคมสงเคราะห์
3) การพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่ายด้านสตรี ครอบครัว และความเสมอภาคทางเพศ
4) การส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว
5) การป้องกันความรุนแรงในครอบครัว
อัตรากำลังเจ้าหน้าที่
ประเภทอัตรากำลัง | จำนวน(คน) |
ข้าราชการ | 7 |
พนักงานราชการ | 16 |
ลูกจ้างประจำ (อัตราจ้างเหมาบริการ) | 15 |
รวม | 38 |